top of page

แนะนำสถานที่สร้างสรรค์และเผยแพร่ผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นช่วงยี่เป็ง



ก่อนจะถึงเทศกาลยี่เป็ง ชวนมาเตรียมปักหมุดช้อปสินค้า ของที่ระลึก และของฝาก เกี่ยวกับเทศกาลยี่เป็ง กับสถานที่สร้างสรรค์และเผยแพร่ Local Product ที่น่าสนใจกัน


ซึ่งได้คัดสรรสถานที่ที่พร้อมให้ไปสัมผัสศิลปหัตถกรรมทั้งเก่าแก่และร่วมสมัย ไปจนถึงได้แลกเปลี่ยนแรงบันดาลใจและความคิดสร้างสรรค์


1.ศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์

คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ อาคารอายุกว่า 140 ปี อีกหนึ่งสถานที่แห่งประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่ ในอดีตคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ หรือที่เรียกว่าคุ้มกลางเวียง เดิมเป็นของเจ้าบุรีรัตน์หลานของเจ้าหลวงคำฝั้น (เจ้าหลวงเชียงใหม่ องค์ที่ 3) ต่อมาเจ้าน้อยชมชื่น ณ เชียงใหม่ บุตรชายเจ้าบุรีรัตน์ ได้รับมรดกและเป็นผู้ครอบครอง และเป็นมรดกตกทอดต่อกันมา จนตระกูลทิพยมณฑลและกิติบุตร ได้มอบอาคารคุ้มเจ้าบุรีรัตน์ให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน

เพื่อให้ใช้เป็นที่ทำการของศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา เป็นหน่วยงานภายใต้งานศิลปวัฒนธรรมและชุมชน


ซึ่งด้านในมีพิพิธภัณฑ์มีการจัดโซนโชว์ผลงานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมไปถึงข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุต่างๆ ในเทศกาลยี่เป็ง ไม่ว่าจะเป็น โคมประดับ ดอกไม้ปันดวง และผางประทีป ซึ่งภายในยังมีสินค้าที่น่าสนใจอย่าง ผางประทีปเทียนดอกไม้ในผางรูปสัตว์ต่างๆ จากร้าน Kit Kraft วางจำหน่าย และยังเป็นสถานที่สำหรับทำเวิร์คช้อปเกี่ยวกับหัตถกรรมล้านนาอีกด้วย


ที่อยู่ : 117 ถนน ราชดำเนิน ตำบล พระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่


 

2. De Quarr Crafting Community

มากกว่าร้านงานคราฟต์ แต่ De Quarr มีวัตถุประสงค์สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชน ขับเคลื่อนงานหัตถกรรมพื้นบ้านในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทย ให้ก้าวสู่ความร่วมสมัยอยู่ในชีวิตประจำวันของคนยุคใหม่ สินค้าของร้านจึงออกมาในรูปแบบที่ร่วมสมัย ที่ผ่านการต่อยอดจากผลิตภัณฑ์ชุมชน ไม่ว่าจะเป็น ผ้าทอมือ เสื้อผ้า เครื่องประดับ และของตกแต่งบ้าน


และสำหรับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับเทศกาลยี่เป็งที่น่าสนใจคือ โคมแปดเหลี่ยมตั้งเป็นชั้น ดีไซน์ร่วมสมัย ใช้สำหรับตกแต่งสถานที่ต่างๆ อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเทศกาลยี่เป็งอื่นๆ รอให้ติดตามได้เร็วๆ นี้


ที่อยู่ : 96 ถนน ราชวงศ์ ตำบล ช้างม่อย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่


 

3. ชุมชนเมืองสารตหลวง แหล่งผลิตโคมล้านนา



ชุมชนนี้ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตโคมล้านนาซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน โดยเริ่มจาก แม่บัวไหล คณะปัญญา เป็นผู้เริ่มต้นสร้างสรรค์การทำโคมในรูปแบบใหม่ โดยยังคงสานต่อโคมล้านนาในรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้ด้วย และได้ถ่ายทอดความรู้การทำโคมให้กับคนในชุมชน หลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกหลาน รวมถึงคนในชุมชนแต่ละบ้านทยอยกันทำโคมมาเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีการทำโคมแทบทุกบ้าน


แต่ละร้านจะมีโคมทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นโคมไฟ โคมถือ โคมแขวน โคมประดับ หรือโคมผัด มาในลักษณะและสีสันหลากหลายให้เลือกสรร ที่แนะนำคือ ร้านณัฏฐณิชา ที่มีโคมผัดแบบจิ๋ววางจำหน่าย รวมถึงโคมอีกหลายขนาด สามารถซื้อไปเป็นของที่ระลึกหรือของฝากน่ารักๆ ในวันยี่เป็งได้


ที่อยู่ : ชุมชนเมืองสาตรหลวง ตำบลวัดเกต อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่



bottom of page