top of page

วัตถุทางวัฒนธรรมที่จะทำให้คุณสัมผัสถึงเสน่ห์ของยี่เป็ง ผ่านแนวคิด "ล้านนา บูชา และแสงไฟ"


เมื่อพูดถึงเทศกาลยี่เป็ง สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ 5 วัตถุทางวัฒนธรรมที่เปรียบเสมือนสัญลักษณ์สำคัญที่บ่งบอกว่าเทศกาลนี้เริ่มต้นขึ้นแล้ว! ปีนี้มาในคอนเซ็ปต์ "ล้านนา บูชา และแสงไฟ" เราจึงอยากแนะนำ 5 วัตถุทางวัฒนธรรมที่จะส่องประกายระยิบระยับทั่วเชียงใหม่ พร้อมบอกเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความน่าสนใจของแต่ละสิ่ง ที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นกิจกรรมร่วมสมัยได้อย่างสร้างสรรค์และสามารถผสมผสานกับการฟื้นฟูเมืองในแบบที่เป็นเอกลักษณ์ของเชียงใหม่ได้



“ผางประทีป” คือภาชนะดินเผาเล็กๆ ที่ใช้จุดไฟบูชาทางพระพุทธศาสนา คำว่า "ผาง" หมายถึงถ้วยเล็ก ส่วน "ประทีป" หมายถึงแสงไฟ ซึ่งใช้บูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และให้แสงสว่างในชีวิตประจำวัน ในช่วงยี่เป็งจะเห็นการประดับประทีปและโคมไฟทั่วเชียงใหม่ ชาวบ้านจะจุดผางประทีปเพื่อบูชาแสงสว่างโดยเชื่อว่าจะทำให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีแสงสว่างนำทางชีวิตให้โชติช่วงชัชวาลอีกด้วย



“ดอกไม้ปันโดง” หรือดอกไม้ปันดวง เป็นประเพณีไทลื้อที่ใช้ดอกไม้พื้นบ้าน เช่น ดาวเรือง บานไม่รู้โรย และหงอนไก่ จัดใส่ "แต๊ะ" ไม้ไผ่ ครอบครัวละหนึ่งอัน เพื่อนำไปบูชาในงานเทศน์มหาชาติ และแขวนไว้ในวิหารจนครบปี



“กระทง” เชียงใหม่สมัยก่อนทำจากหยวกกล้วยหรือใบตอง กระทงเล็กเรียกว่า "กระทงสาย" ส่วนที่ใส่ดอกไม้ธูปเทียนเรียก "กระทงหน้อย" กระทงใหญ่ที่มีนางนพมาศประกวด เรียกว่า "กระทงใหญ่" ปัจจุบันมีการปรับให้ทันสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



“สะเปา” การล่องสะเปาเป็นประเพณีลอยกระทงของภาคเหนือ ที่ทำจากหยวกกล้วยในรูปเรือ เพื่อบรรจุของถวายพระและปล่อยลงน้ำ โดยมีความเชื่อว่าเป็นการปล่อยเคราะห์และอุทิศบุญให้ผู้ล่วงลับ ชาวบ้านมักทำสะเปาที่วัด แล้วนำไปลอยในแม่น้ำปิงพร้อมขบวนฆ้องกลอง



“โคมควัน” “ว่าวฮม” “โคมลอย” “โคมไฟ” หรือ”ว่าวไฟ” เป็นโคมที่ใช้ความร้อนช่วยให้ลอยขึ้นฟ้า ในล้านนานิยมปล่อยในช่วงวันยี่เป็ง เพื่อบูชาพญานาค เทวดา และเทพเจ้าตามความเชื่อโบราณ รวมถึงการลอยเคราะห์ ลอยบาป ปัจจุบันการปล่อยโคมลดลงเนื่องจากปัญหาเรื่องความปลอดภัย จึงต้องจัดสรรพื้นที่และเวลาที่เหมาะสม

bottom of page