หากพูดถึงเทศกาลยี่เป็งแล้ว แน่นอนว่าสิ่งที่ขาดไปไม่ได้เลย ก็คือวัตถุทางวัฒนธรรม ที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าเทศกาลนี้กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว
สำหรับในปีนี้ที่กิจกรรมต่างๆ จะมาในคอนเซ็ปต์ “ล้านนา บูชา และแสงไฟ” วันนี้เราจึงอยากมาแนะนำวัตถุทางวัฒนธรรมทั้ง 6 ที่จะมาส่องแสงระยิบระยับทั่วจังหวัด ทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ และความน่าสนใจในการต่อยอดให้เกิดกิจกรรมที่ร่วมสมัย
โคมไฟหรือโคมยี่เป็ง
โคมยี่เป็ง ทำขึ้นเพื่อเตรียมใช้ในการจุดผางประทีปบูชาที่วัดในวันเพ็ญเดือนยี่ โดยการแขวนใส่ค้างโคมบูชาตามพระธาตุเจดีย์ แขวนไว้หน้าวิหาร กลางวิหาร หรือในปัจจุบันนิยมแขวนประดับตกแต่งตามอาคารบ้านเรือน โดยโคมล้านนามีลักษณะหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่การสร้างสรรค์ตามภูมิปัญญาของแต่ละท้องถิ่น
โคมรูปแบบโบราณพบได้ทั่วไป มีความสวยงามที่แตกต่างกันออกไปสามารถแบ่งได้ 3 ลักษณะหลักๆ
คือ โคมถือ ได้แก่ โคมหูกระต่าย โคมดอกบัว
โคมแขวน ได้แก่ โคมดาว โคมไห โคมเงี้ยว(โคมเพชร) โคมกระบอก โคมญี่ปุ่น โคมรังมดส้ม (โคมธรรมจักร)
โคมที่ตั้งหรือวางบนพื้น ได้แก่ โคมผัด
และในปัจจุบันมีการประดิษฐ์โคมรูปแบบใหม่ขึ้นมากมาย
.
ในปัจจุบันยังมีการจุดโคมไฟยี่เป็งในหลากหลายสถานที่ ทั้งการตกแต่งบ้านเรือน โรงแรม รีสอร์ท วัด หรือ สถานที่ราชการและเอกชน นอกจากเพื่อความสวยงามแล้ว ยังเป็นการจุดเพื่อความเป็นสิริมงคลที่ชาวล้านนาเชื่อว่า จะนำความเจริญรุ่งเรืองและความสุขมาให้กับตนและครอบครัวต่อไป
เรียบเรียงข้อมูลจาก : https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/yeepeng-chomyeepeng.php , Facebook เรื่องเล่าชาวล้านนา
“ผางประทีส”
หรือผางประทีปเป็นเครื่องสักการะบูชาในพระพุทธศาสนา โดยเกิดจากการรวมคำว่า “ประทีส” ซึ่งหมายถึงแสงไฟ กับคำว่า ”ผาง” ที่หมายถึงภาชนะดินเผาคล้ายถ้วยเล็กๆ รองรับน้ำมันหรือไขที่เป็นเชื้อเพลิงของประทีป
ในสมัยก่อนประทีปเป็นเครื่องจุดตามไฟ (จุดไฟเพื่อแสงสว่าง) เป็นพุทธบูชาหรือบูชาสืบชาตาอายุ หรืออีกนัยหนึ่งคือเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้จุดแทนเทียนในเวลากลางคืน
ซึ่งในช่วงเทศกาลยี่เป็ง จะมีการประดับประทีปโคมไฟ นอกจากการประดับแล้ว ยังใช้เป็นจุดบูชาพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนหนึ่งตามอายุของแต่ละคน ในการตั้งธัมม์หลวง หรือฟังเทศน์มหาชาติ
นอกจากการจุดบูชาพระรัตนไตรแล้วชาวบ้านมักนำผางประทีปจุดในพื้นที่รอบบ้านทั้งในห้องต่างๆ หัวบันได บ่อน้ำ ห้องครัว โดยเริ่มจุดเมื่อพระเริ่มเทศนาธรรม หรือคัมภีร์อานิสงส์ผางประทีป ชาวบ้านก็จะเริ่มจุดไฟประทีปขึ้นพร้อมกันในบ้านของตน
.
การจุดประทีปยังเป็นการสืบชะตาเมืองเชียงใหม่ โดยมีการจุดผางประทีปจำนวน 1,000 ดวงเพื่อสืบอายุเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง เกิดแต่ความมงคล
เรียบเรียงข้อมูลจาก : https://art-culture.cmu.ac.th/Lanna/articleDetail/1816
ดอกไม้ปันโดง หรือดอกไม้ปันดวง
ดอกไม้ปันโดง เป็นสำเนียงการออกเสียงของชาวไทลื้อ ซึ่งหมายถึง ดอกไม้พันดวง หรือดอกไม้หอมหลากหลายจำนวนมากมาย ประเพณีการถวายดอกไม้พันดวง สำหรับงานเทศน์มหาชาติของชาวไทลื้อแห่ง “วัดร้องแง” ตำบลวรนคร อำเภอปัว จังหวัดน่าน จะทำดอกไม้พันดวง ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องบูชาเนื่องในงานเทศน์มหาชาติ ซึ่งเป็นประเพณีของชาวไทลื้อที่สืบทอดกันมายาวนาน
ดอกไม้ที่ใช้จะเป็นดอกไม้ที่ชาวบ้านหาได้ง่ายๆ ตามท้องไร่ท้องนา ไม่ว่าจะเป็น ดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ดอกหงอนไก่ สะบันงา(กระดังงา) มะลิ ใบเตยหอม หรือดอกไม้อะไรก็ได้ที่สามารถหาได้ จากนั้นก็จะนำมาจัดเรียงในภาชนะไม้ไผ่สานทรงสี่เหลี่ยมที่เรียกว่า “แต๊ะ” โดยหนึ่งครอบครัวก็จะทำขึ้นมาคนละหนึ่งอันเท่านั้น
เมื่อเสร็จแล้วชาวบ้านก็จะนำดอกไม้พันดวงที่รวมกันอยู่ในแต๊ะไปแขวนไว้ภายในวิหาร และจะแขวนไว้เช่นนั้นจนกว่าประเพณียี่เป็งจะเวียนมาอีกครั้งในปีถัดไป
สำหรับในจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้จัดกิจกรรมดอกไม้ปันดวงขึ้นในปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทำ Workshop ที่มาและเรื่องราว การประดิษฐ์ดอกปันดวง กับเครือข่ายชุมชนเมืองรักษ์เชียงใหม่ ในปี 2564 , กิจกรรม ดอกไม้ปันดวง เครื่องสักการะตั้งธรรมหลวง สู่งานประดับเมืองยี่เป็งเชียงใหม่ ในปี 2565 และในปีนี้จะมีกิจกรรมดอกไม้ปันดวงในเชียงใหม่จากที่ไหนบ้าง รอติดตามเร็วๆ นี้
เรียบเรียงข้อมูลจาก : https://www.thetrippacker.com/th/review/วัดร้องแงอำเภอปัวจังหวัดน่าน/13230
กระทง
รูปแบบกระทงของเชียงใหม่ ในสมัยก่อนจัดทำกระทงหรือแพหยวกกล้วย ให้มีขนาดและรูปร่างตามต้องการ เมื่อจุดธูปเทียนแล้วจึงปล่อยให้ลอยไปตามน้ำ ถ้ากระทงนั้นทำด้วยชิ้นกาบกล้วยขนาดฝ่ามือ มีเทียนปักแล้วหรือวางประทีปแล้วจุดปล่อยให้ลอยตามกันไปเป็นสายก็เรียกว่า กระทงสาย ถ้าทำเป็นแพหยวกกล้วยหรือกระทงใบตอง ก็อาจมีการประดับด้วยดอกไม้ธูปเทียน และอุปกรณ์อื่นๆ และอาจใส่เงินลงไปด้วย กระทงดังกล่าวนิยมเรียกว่ากระทงหน้อย
ส่วนกระทงขนาดใหญ่ซึ่งนิยมจัดเครื่องอุปโภคบริโภคต่างๆ เรียกว่า สะเพา คือสำเภา และกระทงทำขึ้นเพื่อการประกวดนั้นมักตกแต่งเป็นรูปต่างๆ และมี "นางนพมาศ" เป็นจุดสนใจประจำแต่ละกระทงนิยมเรียกว่ากระทงใหญ่
ในปัจจุบันมีการจัดทำกระทงในรูปแบบต่างๆ มากมาย เพื่อให้เข้ากับยุคสมัย รักษาสิ่งแวดล้อม และต่อยอดให้สร้างสรรค์มากขึ้น
เรียบเรียงข้อมูลจาก : https://art-culture.cmu.ac.th/Museum/contentdetail/2394
ล่องสะเปา
การล่องสะเปา หลายคนอาจไม่คุ้นชื่อ การล่องสะเปา คือการลอยกระทงของภาคเหนือ สะเปามีลักษณะเป็นรูปเรือที่ทำจากหยวกกล้วยเพื่อลอยบรรจุสิ่งของและปล่อยลงน้ำ โดยภายในเรือจะมีการบรรจุสิ่งของที่ใช้เพื่อการอุปโภคและบริโภค ถวายทานแด่พระสงฆ์เพื่อเป็นการปล่อยเคราะห์หรืออุทิศบุญกุศลแด่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
.
ชาวบ้านชุมชนวัวลายในอดีตนิยมทำสะเปากันที่วัด โดยสะเปาที่ร่วมกันสร้างเป็นเสมือนเรือลำใหญ่ที่วางอยู่บนแพไม้ไผ่ นำข้าวของอุปโภค บริโภคใส่ลงไปในสะเปา เมื่อถึงเวลาค่ำวันยี่เป็งจะช่วยกันหามสะเปาไปยังแม่น้ำปิงระหว่างทางมีการแห่ด้วยขบวนฆ้อง กลองจากวัดไปสู่แม่น้ำ เมื่อถึงแม่น้ำจะมีการทำพิธีอีกครั้งก่อนปล่อยสะเปา เปรียบเป็นการบริจาคทานอีกรูปแบบหนึ่ง
.
แม้ว่าในปัจจุบันประเพณีการลอยสะเปาจะเลือนหายไปมากแล้ว แต่ทางเทศบาลนครเชียงใหม่ยังมีความตั้งใจในการฟื้นฟูวัฒนธรรมการล่องสะเปาจากชุมชนต่างๆ อยู่บ้าง
.
รวมถึงเมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา มีกิจกรรม ‘แป๋งสะเปา’ ที่ศูนย์พื้นบ้าน ย่าน เวียงเชียงใหม่ ศูนย์มรดกเมือง เทศบาลนครเชียงใหม่ โดยมีการเล่าเรื่องประเพณีการล่องสะเปา โดย พ่อหลวงอานนท์ ไชยรัตน์ และสอนการทำสะเปาต้นแบบอีกด้วย
เรียบเรียงข้อมูลจาก : https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/yeepeng-sapuo.php , https://www.cmu.ac.th/th/article/415845ef-b8f9-4c40-9f6d-2a018ebaddd5 บทความโดย อาจารย์สนั่น ธรรมธิ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โคมควัน ว่าวฮม และโคมไฟ ว่าวไฟ
โคมควัน ว่าวรม หรือว่าวฮม ที่มักจะเรียกกันว่าโคมลอย เป็นโคมที่ใช้ความร้อนในการพยุงให้ลอยขึ้นไปในอากาศ ใช้ควันไฟที่มีความร้อนอัดเข้าไปในตัวว่าว เรียกว่า ฮมควัน ควันไฟที่อัดเข้าไป ทำให้ภายในตัวว่าวมีความร้อนที่จะให้พยุงตัวว่าวให้ลอยขึ้น การปล่อยโคมนิยมปล่อยกันในช่วงก่อนเที่ยง เพราะอากาศกำลังดีสำหรับการปล่อยว่าว ซึ่งต้องทำในที่โล่งกลางแจ้ง
โคมไฟ หรือ ว่าวไฟ เป็นโคมทรงกระบอก มักใช้ปล่อยให้ลอยขึ้นสู่อากาศในช่วงกลางคืน วิธีการทำ ใช้หลักการเดียวกันกับการทำว่าวฮม แต่ใช้กระดาษน้อยกว่า อาศัยความร้อนจากลูกไฟที่ผูกติดกับแกนกลาง ทำให้ว่าวลอยขึ้นสู่อากาศ
ตามความเชื่อการปล่อยว่าวหรือโคมในเฉพาะถิ่นล้านนามักปล่อยในวันยี่เป็ง วัตถุประสงค์ของการปล่อยว่าวเป็นไปตามความเชื่อที่ยึดถือกันมากล่าวคือ
คติดั้งเดิม เป็นการบูชาพญานาค เทวดาที่ประทานน้ำฟ้าสายฝน บูชาพ่อเกิดแม่เกิดหรือพระยาแถนหลวงผู้มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิต
คติพราหมณ์ บูชาเทพเจ้า ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ตลอดจนพระแม่คงคา
คติพุทธ บูชาพระเกศแก้วจุฬามณี โดยเฉพาะคนเกิดปีเส็ด(ปีจอ) พระอินทร์ พระพรหม พระอุปคุต รวมถึงอุทิศให้ญาติผู้ล่วงลับ
คติทั่วไป เป็นการลอยเคราะห์ ลอยบาป ดังคำที่ว่า “หื้อตกไปโตยไฟ หื้อไหม้ไปในอากาศ หื้อหยาดตกปฐวีคงคา”
ซึ่งในปัจจุบันการปล่อยโคมเหล่านี้ อาจได้รับความนิยมลดน้อยลง เพราะอาจเกิดเหตุการณ์โคมร่วงหล่นบนบ้านเรือน หรือไปรบกวนเส้นทางการบินของเครื่องบิน ที่อาจทำให้เกิดความเสียหายได้ จึงมีการจัดสรรพื้นที่ ระยะเวลา และปริมาณที่เหมาะสมในการปล่อยโคม
เรียบเรียงข้อมูลจาก : https://cmu.ac.th/th/article/a8bb1831-eab1-42f0-ae51-3a444546e0a6 , https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/yeepeng-wowfire.php , https://lannainfo.library.cmu.ac.th/lannatradition/yeepeng-wowhome.php
ซุ้มประตูป่า
ซุ้มประตูป่า ความหมายมาจาก ปากทางที่จะเข้าสู่ป่า ซึ่งมักจะปรากฏอยู่เป็นเสา ตั้งอยู่ที่ชายหมู่บ้าน ขนาบทางเดินที่จะเข้าป่า ประดับอยู่ระหว่างเสาทั้งคู่ ใช้เป็นบริเวณที่ประกอบพิธีกรรมสำหรับหมู่บ้าน
ชาวล้านนาจะเตรียมจัดตกแต่งประตูบ้านและประตูวัด ด้วยซุ้มประตูป่า โดยการนำต้นกล้วย ใบมะพร้าว ต้นอ้อย โคมหูกระต่าย โคมเงี้ยวหรือโคมชนิดอื่นๆ และดอกไม้ต่างๆ ตกแต่งเป็นซุ้มประตูป่าอย่างงดงาม
จากความเชื่อสมัยก่อน ซุ้มประตูป่าทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องสักการะถวายการต้อนรับพระเวสสันดรในวันยี่เป็ง ครั้งเสด็จออกจากป่าเข้าสู่เมือง และเชื่อกันว่าถ้าใครตกแต่งซุ้มประตูป่าได้งดงาม
อาจทำให้พระเวสสันดรเสด็จหลงเข้ามาในซุ้มประตูป่าที่จำลองเป็นป่าหิมพานต์ภายในบ้านของเรา จะทำให้ได้อานิสงส์อย่างมาก
การสร้างซุ้มประตูป่า นอกจากมีคติความเชื่อ ในเรื่องการต้อนรับการเสด็จกลับจากป่าของพระเวสสันดรแล้ว ยังเป็นซุ้มที่ใช้จุดผางประทีป เพื่อบูชาพระเจ้าห้าพระองค์ โดยจุดไว้ในโคมหูกระต่าย อีกทั้งยังมีโคมชนิดอื่นๆ ที่ใช้ในการประดับตกแต่งอีกด้วย
ปัจจุบันการเตรียมจัดทำซุ้มประตูป่าในช่วงเทศกาลยี่เป็ง ไม่เพียงแค่เกิดขึ้นเฉพาะตามหมู่บ้านหรือวัดแล้ว แต่ยังกระจายไปยังร้านค้าและโรงแรมต่างๆ เพื่อให้เกิดความสวยงามตามแบบฉบับยี่เป็ง สำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยวให้ได้รู้จักกับวัฒนธรรมล้านนา
เรียบเรียงข้อมูลจาก : https://www.finearts.go.th/chiangmaimuseum/view/32539-ซุ้มประตูป่า
#YIPENGtheLannaLightFestival #ยี่เป็งเชียงใหม่2566 #ล้านนาบูชาแสงไฟ #ลอยกระทง2566